คณะสหวิทยาการ เข้าร่วมสัมมนาแลกเปลี่ยนระดมความคิด มิติการค้าชายแดนและโลจิสติกส์ต่อการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs
วันอังคารที่ 8 ตุลาคม 2567 เวลา 08.30 – 16.00 น. ณ โรงแรมอมันตา หนองคาย (Amanta Hotel Nongkhai) สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) จึงมอบหมายให้ ศูนย์ China Intelligence Center (CIC) วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สายงานอาเซียนและโลจิสติกส์ สภาธุรกิจไทย-ลาว หอการค้าจังหวัดหนองคาย และหอการค้าจังหวัดอุดรธานี ดำเนินกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็น “มิติการค้าชายแดนและโลจิสติกส์ต่อการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs เพื่อการใช้ประโยชน์จาก Cross Border E-Commerce สู่ตลาดประเทศจีน” ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs เพื่อการใช้ประโยชน์จาก Cross Border E-Commerce (CBEC) สู่ตลาดประเทศจีน ทั้งในมิติ การให้บริการโลจิสติกส์ (Logistic Flow) การชำระเงินระหว่างประเทศ (Financial Flow) และการเข้าสู่ตลาดจีน (Information Flow) เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ รวมทั้งผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการขยายตลาดออกสู่ประเทศจีนให้สามารถใช้ประโยชน์จากช่องทางการค้า CBEC เพื่อส่งออกสินค้าไปยังตลาดจีนและเป็นเรื่องสืบเนื่องจากการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ในวันที่ 7-8 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมพันล้าน บูติค รีสอร์ท หนองคาย ที่ผ่านมา
ซึ่งในการจัดงานดำเนินกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากนายรัฐศาสตร์ ชิดชู รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานกล่าวเปิดงาน
คณะสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุนทรี บูชิตชน คณบดีคณะสหวิทยาการ พร้อมด้วยทีมงานผู้บริหารและบุคลากร รองศาสตราจารย์ ดร.วัลลภา วงศ์ศีลธรรม รองคณบดี อาจารย์ ดร.อังศุอร ณ หนองคาย ผู้ช่วยคณบดี และรองศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ วัฒนกูล หัวหน้าสาขาวิชาสังคมศาสตร์ เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนระดมความคิดเห็น “มิติการค้าชายแดนและโลจิสติกส์ต่อการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs เพื่อการใช้ประโยชน์จาก Cross Border E-Commerce สู่ตลาดประเทศจีน” การสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในการพัฒนาด้านการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามแดน (Cross Border E-Commerce) โดยเฉพาะในตลาดจีนที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเป็นตลาดขนาดใหญ่ ที่มีศักยภาพ และลูกค้ามีรายได้ และอำนาจซื้อสูง ดังนั้นผู้ประกอบการจึงมีความจำเป็นต้องมีการปรับตัวให้สามารถแข่งขันได้ และขยายตลาด ได้อย่างยั่งยืน และมีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์การดำเนินงานของคณะสหวิทยาการ ในด้านการผลิตบัณฑิตและพัฒนานักศึกษาที่มุ่งส่งเสริมให้เป็นบัณฑิตที่มีความพร้อมในการทำงาน รวมทั้งเป็นการสนับสนุนด้านการวิจัย และการบริการวิชาการของคณะสหวิทยาการ นอกจากนั้นยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์และตัวชี้วัด (KPI) การประกันคุณภาพ (QA) ของสมศ.อว. และมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสามารถบูรณาการกับการเรียนการสอน การวิจัยการบริการวิชาการ และการสร้างเครือข่ายด้านวิชาการ และวิจัย กับสถาบันและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง