...

นักศึกษา มข. เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่การพัฒนานวัตกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568  นักศึกษาชั้นปีที่ 2 หลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขานวัตกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ คณะสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงพื้นที่เรียนรู้กระบวนการทำเครื่องปั้นดินเผา ณ กลุ่มดอนกลางเครื่องปั้นดินเผา บ้านดอนกลาง ตำบลซุมช้าง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ภายใต้หัวข้อ "การออกแบบประสบการณ์การท่องเที่ยวเพื่อนักท่องเที่ยวกลุ่มเฉพาะ"

นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภลักษณ์ อัครางกูร ผู้รับผิดชอบรายวิชาจิตวิทยาสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (IN752206) เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาได้เรียนรู้ในสภาพแวดล้อมจริงและเข้าใจกระบวนการผลิตเครื่องปั้นดินเผาซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงของจังหวัดหนองคาย การศึกษานอกสถานที่ครั้งนี้มุ่งเน้นให้นักศึกษาได้เห็นกระบวนการทำงานจริง และเรียนรู้แนวทางในการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมการท่องเที่ยว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภลักษณ์ อัครางกูร กล่าวนักศึกษาได้เรียนรู้กระบวนการผลิตครกดินเผาอย่างครบวงจร ตั้งแต่การคัดเลือกดิน การขึ้นรูป จนถึงการเผา โดยมีคุณธาดา สุพรรณราช หัวหน้ากลุ่ม เป็นวิทยากรให้ความรู้และสาธิตเทคนิคต่างๆ พร้อมเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ทดลองปั้นครกด้วยตนเอง

การได้ลงมือปฏิบัติจริงทำให้เข้าใจคุณค่าของงานหัตถกรรมพื้นบ้านมากขึ้น และมองเห็นโอกาสในการพัฒนาเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ หนึ่งในนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมกล่าว

การศึกษาดูงานครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิด "นวัตกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์" ที่บูรณาการองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวและการบริการเข้ากับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

ผลลัพธ์จากกิจกรรมนี้ไม่เพียงแต่ช่วยสืบสานและส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่ยังเป็นการเปิดมุมมองให้นักศึกษาเห็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่มีเอกลักษณ์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มเฉพาะที่สนใจงานหัตถกรรมและวัฒนธรรมไทย อันจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน

ข่าว : จิรโชติ ภูแสงสั้น, นํ้าเพชร คำผาย

ภาพ : อังคณา เรย์มอนต์ รอสเตอร์เฟร

ประมวลภาพ

ข่าวล่าสุด