
คณะวิทย์ฯวนค.ร่วมกับฝ่ายวิจัยฯ จัดเสวนาเทคนิคการเขียนโครงการให้ได้ทุน
ฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยกองบริหารงานวิจัย ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย จัดเสวนาทางวิชาการ เรื่อง เทคนิคการเขียนโครงการวิจัยให้ได้ทุน ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ณ ห้องอาหารช่อคูณคำ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย ซึ่งจะเป็นเวทีที่ให้คำแนะนำ การแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ การสร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้อาจารย์ เห็นความสำคัญและเตรียมความพร้อมในการทำวิจัยได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้ง 3 ท่านได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ศาสตราจารย์ ดร. สมชาติ โสภณรณฤทธิ์ คณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัย เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ราชบัณฑิต และกรรมการสภา มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ศาสตราจารย์ ดร. สุจิตรา ยังมี ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ปรึกษาอาวุโส ศูนย์วิจัยเคมีและวัสดุ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้เกียรติถ่ายทอดประสบการณ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคณาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกียรติ แสงอรุณ รองอธิการบดีวิทยาเขตหนองคาย กล่าวว่า โครงการเสวนาวิชาการ เรื่อง “เทคนิคการเขียนโครงการวิจัยให้ได้ทุน” เป็นเวทีที่ให้คำแนะนำ การแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ การสร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้อาจารย์ เห็นความสำคัญและเตรียมความพร้อมในการทำวิจัยได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ จากวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งมีผลงานการวิจัยเป็นที่ประจักษ์ในระดับประเทศและนานาชาติ และประสบผลสำเร็จในการทำวิจัยและขอทุนวิจัย ทั้ง 3 ท่าน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เทวัญ เริ่มสูงเนิน รองคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า การพัฒนาส่งเสริมและสนับสนุนให้อาจารย์ได้รับการยอมรับในฐานะนักวิชาการที่เป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่สอน วิจัย หรือบริการวิชาการ เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ และมีความก้าวหน้าในตำแหน่งวิชาการในเวลาที่เหมาะสม เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาด้านวิชาการและการวิจัยของมหาวิทยาลัย และยังเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับอาจารย์ในการทำงานเพื่อการพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลกด้วยความภาคภูมิใจ การเสวนาวิชาการ ในครั้งนี้จึงเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ของวิทยากรผู้ซึ่งประสบความสำเร็จในการวางแผนวิจัย ขอทุนและมีผลงานวิจัยเป็นที่ประจักษ์ในระดับประเทศ อีกทั้งยังเป็นเวทีในการเสนอแนะข้อคิดเห็นในการพัฒนากลไกการทำวิจัยและการเข้าถึงแหล่งทุนวิจัยอีกด้วย