
คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ฯ เสริมสร้างแหล่งโปรตีนสู่ชุมชน
คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์
เสริมสร้างแหล่งโปรตีน เผยแพร่ความรู้ด้านการประมงสู่ชุมชน
เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 ณ โรงเรียนบ้านสร้างหลวงสร้างคำ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์ สาขาการประมง จัดทำโครงการประมงเพื่อน้อง ครั้งที่ 3 เพื่อส่งเสริมนักศึกษา ให้มีทักษะด้านการประมง รู้จักการวางแผน การทำงานร่วมกัน ด้วยการลงพื้นที่ สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างนักศึกษากับนักเรียน และให้นักเรียนรู้จักเสริมสร้างแหล่งอาหารโปรตีน ในโรงเรียน เป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชน เป็นแนวทางในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเลี้ยงปลาในระดับชุมชนของเยาวชน ทั้งนี้ยังเป็นการส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง ตามแนวทางหลักเศรษฐกิจพอเพียงและยังเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับนักศึกษา ให้มีทัศนคติการทำงานเพื่อท้องถิ่น เตรียมความพร้อมให้นักศึกษาเรียนจบออกไปเป็นบัณฑิตที่พึงประสงค์ของสังคม
ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฎฐา นิธิกุลวรวงศ์ รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์ ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดโครงการฯและมอบ พันธุ์ปลานิล จำนวน 1,000 ตัว อาหารปลา 15 กระสอบ กระชังปลา ขนาด 5x5 จำนวน 6 กระชัง โดยมี นายอังคาร พึ่งพา ผู้อำนวยการโรงเรียน บ้านสร้างหลวงสร้างคำ นำทีมรับมอบ
ผศ.ดร.ณัฎฐา นิธิกุลวรวงศ์ รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ฯ มีโครงการที่สนับสนุนชุมชนด้านการเลี้ยงปลาเพื่อเป็นแหล่งอาหารโปรตีน ซึ่งก็สอดคล้องกับทางโรงเรียนบ้านสร้างหลวงสร้างคำ ที่มีโครงการอาหารกลางวันเพื่อนักเรียนอยู่แล้ว ทั้งนี้ทางคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ฯ ยังมีอีกหลายหลักสูตรนอกเหนือจากหลักสูตรประมง ที่จะสามารถสนับสนุนให้บริการวิชาการช่วยพัฒนาชุมชนอีกหลายด้าน
ด้านนายอังคาร พึ่งพา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสร้างหลวงสร้างคำ กล่าวว่า รู้สึกดีใจและขอบคุณทาง คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้มอบโอกาสที่ดีนี้ให้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านสร้างหลวงสร้างคำ ซึ่งทางโรงเรียนบ้านสร้างหลวงสร้างคำเป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้น อนุบาล ถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยโรงเรียนมีงบประมาณเลี้ยงอาหารกลางวันนักเรียนแต่ไม่ครบทุกชั้นปี ทางโรงเรียนจึงทำโครงการเลี้ยงปลา ไก่ไข่ และปลูกผัก เพื่อจำหน่ายและทำเป็นอาหารกลางวันให้นักเรียนทุกระดับชั้น และได้มอบหมายให้ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 รับหน้าที่ดูแลการเลี้ยงปลา ซึ่งก็คาดหวังว่า เมื่อนักเรียนได้รับความรู้เรื่องการเพาะเลี้ยงปลาจาก รุ่นพี่คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ฯ จะสามารถนำเอาความรู้นั้นไปต่อยอดใช้ประกอบอาชีพช่วยเหลือครอบครัวได้
ด้านนายวงศธร อำคา นักศึกษาสาขาประมง คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ฯ ชั้นปีที่ 3 หัวหน้าทีม เปิดเผยว่า โครงการประมงเพื่อน้องครั้งที่ 3 เป็นการร่วมมือกันระหว่างนักศึกษาสาขาประมง ทุกชั้นปี โดยได้มีการจัดเตรียมงานล่วงหน้าและแบ่งหน้าที่กันทำงานหลายฝ่าย เช่น ฝ่ายจัดเตรียมอุปกรณ์ ฝ่ายอาหาร ฝ่ายวิชาการให้ความรู้และฝ่ายสันทนาการ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพี่กับน้อง โดยฝ่ายวิชาการจะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่เรียนมา ด้านการเพาะเลี้ยงปลาให้กับน้องๆนักเรียน ซึ่งการจัดทำโครงการฯในครั้งนี้ ทำให้พวกตนได้รู้จักการทำงานร่วมกัน ได้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ เป็นการฝึกทักษะการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ทำให้เราได้พัฒนาตนเองด้วย