...

มข.วิทยาเขตหนองคายสร้างสังคมเอื้อเฟื้อเกื้อกูลลงแขกเกี่ยวข้าวช่วยชาวนา

คณะสังคมศาสตร์บูรณาการร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์และคณะศิลปศาสตร์ จัดกิจกรรมสืบสานประเพณีและอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยลงแขกเกี่ยวข้าวนานาชาติ ครั้งที่ 8        

                วันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2558  ณ บ้านคุยนางขาว ตำบลหนองกอมเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย คณะสังคมศาสตร์บูรณาการร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์และคณะศิลปศาสตร์ มข.วิทยาเขตหนองคาย นำนักศึกษากว่า 200 คน จัดกิจกรรมสืบสานและอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมไทยลงแขกเกี่ยวข้าวนานาชาติ ประจำปี 2558 โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.อภิรัตน์ เพ็ชรศิริ รักษาการคณบดีคณะสังคมศาสตร์บูรณาการ เป็นประธานพิธีจุดธุปเทียนในพิธีบายศรีสู่ขวัญข้าว ทั้งนี้ กิจกรรมสืบสานประเพณีและอนุรักษ์วัฒนธรรมลงแขกเกี่ยวข้าวนานาชาติ เป็นการจัดครั้งที่ 8 นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 เป็นต้นมา ซึ่งได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน อบต.หนองกอมเกาะและวิทยาลัยนานาชาติ นำนักศึกษาต่างชาติเข้าร่วมกิจกรรม

ก่อนเริ่มการลงแขกเกี่ยวข้าว ได้มีการทำพิธีทำขวัญลานข้าว การสาธิตวิธีการเกี่ยวข้าว การจักตอกการใช้ตอกมัดข้าวแบบโบราณ การนวดข้าวแบบดั้งเดิมและการแข่งขันการนวดข้าวระหว่างนักศึกษาคณะสังคมศาสตร์บูรณาการ คณะศิลปศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์ โดยมีรางวัลคือไก่ต้มซึ่งใช้ในการประกอบพิธีทำขวัญลานข้าว  ซึ่งอาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษา เจ้าหน้าที่ อบต.หนองกอมเกาะและชาวบ้าน ได้ร่วมลงแขกเกี่ยวข้าวในแปลงนาเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ ของเกษตรกร จำนวน 5 ราย ทั้งนี้หลังจากร่วมกันเกี่ยวข้าว ชาวบ้านเจ้าของนา ได้ทำอาหารกลางวันเลี้ยงเพื่อเป็นการตอนแทบในการลงแขกเกี่ยวข้าว โดยในปีนี้การจัดกิจกรรมไม่มีงบประมาณในการดำเนินโครงการ วัตถุดิบที่ชาวบ้านในการประกอบอาหารกลางวันและเครื่องดื่มบางส่วน ได้รับความอนุเคราะห์ร่วมสมทบ จากอาจารย์ เจ้าหน้าที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย จากภาคเอกชน และได้รับความอนุเคราะห์จาก อบต.หนองกอมเกาะในการสนับสนุนอุปกรณ์ในการจัดสถานที่

การลงแขกเกี่ยวข้าว เป็นการเสียสละอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือสังคมชุมชน โดยอาจารย์ เจ้าหน้าที่และนักศึกษา ที่ไม่มีประสบการณ์ในการทำนาเกี่ยวข้าว จะได้รับประสบการณ์ใหม่ๆเข้าใจจิตใจของเกษตรกรที่ปลูกข้าวมาด้วยความยากลำบากและเห็นคุณค่าของข้าว นักศึกษาจะเห็นคุณค่าเงินของพ่อแม่ที่เป็นเกษตรกรส่งให้เรียนเพิ่มขึ้น อีกทั้งเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนเป็นการประชาสัมพันธ์และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่มหาวิทยาลัยได้ด้วย นอกจากนี้แล้วการจัดกิจกรรมดังกล่าวยังได้รับการประชาสัมพันธ์ออกสื่อทางโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และเว็บไซต์ต่างๆ ทำให้ทั้งมหาวิทยาลัย ชุมชน ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เป็นที่รู้จัก

                  ผู้ช่วยศาสตราจารย์มานิตย์ ผิวขาว อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์บูรณราการ ผู้เริ่มด้นในการจัดกิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าว เล่าว่าการเกี่ยวข้าวปีนี้มาถึงเร็วจากที่ได้คุยกับชาวบ้านไว้ว่าจะลงแขกเกี่ยวข้าวในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2558 กลับกลายเป็นได้เกี่ยวข้าวในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 เนื่องจากข้าวเหลืองพร้อมเกี่ยวแล้ว หากปล่อยไว้นานข้าวจะร่วงเกิดการเสียหาย การจัดกิจกรรมในครั้งนี้จึงเร่งดำเนินงานภายในหนึ่งอาทิตย์แม้จะไม่มีงบประมาณแต่อาจารย์ เจ้าหน้าที่ ชาวนาและภาคเอกชนก็พร้อมร่วมมือสนับสนุน สมทบคนละเล็กละน้อย เป็นค่าอาหารเครื่องดื่มและอุปกรณ์ในการจัดงาน ทำให้การจัดกิจกรรมในครั้งนี้เรียบง่ายไม่มีพิธีการอะไรเป็นการเสียสละ มีจิตอาสาช่วยจัดเตรียมงานและร่วมลงแขกเกี่ยวข้าวอนุรักษ์ประเพณีสังคมแห่งการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลอย่างแท้จริง  ผศ.มานิตย์ กล่าวว่า เงินแม้จะเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญในการทำกิจกรรม แต่เงินไม่ใช่ทั้งหมดของกิจกรรม การวางแผนการใช้เงินให้คุ้มที่สุด ประหยัดที่สุด รวมทั้งสิ่งเล็กๆน้อยๆที่พวกเราช่วยกันบริจาคเสียสละ ทั้งนำสิ่งที่ใช้ประกอบอาหารมาร่วมสมทบ การทำอาหารและเครื่องดื่มมาสมทบซึ่งส่วนของศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงธรรมเกษตรก็เอาไข่เป็ดกว่า 500 ฟองไปช่วยเหลือชาวนา อาหารจึงมีพอเพียงต่อจำนวนนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรม ผศ.มานิตย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า "ถ้าจะทำความดี ก็ไม่ควรมีเงื่อนไขอะไรมาก และต้องก้าวพ้นสิ่งที่เป็นความไม่พอใจหรือเหตุอื่นๆไปให้ได้" "ความดีนี้ ใครทำคนนั้นด็ได้รับ ไม่ต้องขอ ความดีก็ปรากฎ"

                ด้านคุณแม่ลุน ปิชัยญาณ เจ้าของที่นาลงแขกเกี่ยวข้าว จำนวน 9 ไร่ กล่าวว่า รู้สึกยินดีและขอขอบคุณอาจารย์และนักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย มาให้ความช่วยเหลือร่วมลงแขกเกี่ยวข้าวรวมถึงสมทบวัตถุดิบในการประกอบอาหารในการเลี้ยงอาหารกลางวัน ซึ่งก็ช่วยในการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ค่าจ้างแรงงานซึ่งปัจจุบันสูงถึง 350 ต่อคน หากฤดูดำนาทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย จะมาช่วยเหลืออีก ตนก็ยินดีเป็นอย่างยิ่ง

                นางสาวกมลรส ทำจ้อม นักศึกษาสาขาเศรษศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ซึ่งร่วมทำกิจกรรมโครงการลงแขกดำนา ลงแขกเกี่ยวข้าว ตั้งแต่อยู่ปี 1 เปิดใจว่า ตนไม่เคยทำนาแต่มีโอกาสได้เรียนรู้วิธีการทำนา จากการเข้าร่วมโครงการลงแขกเกี่ยวข้าวและลงแขกดำนา ทำให้ตนได้เรียนรู้วิถีชีวิตดั้งเดิม ความยากลำบากของชาวนา การบริหารจัดการงานซึ่งได้รับการมอบหมายจากอาจารย์ในการจัดเตรียมงาน รวมถึงความรักสามัคคี ความผูกพันที่ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างอาจารย์และนักศึกษารุ่นพี่รุ่นน้อง

                นายสราวุธ รำรึก นักศึกษาสาขารัฐประศาสนศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 กล่าวว่า วันนี้ได้ร่วมกิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าวได้สอนการเกี่ยวข้าวให้เพื่อนที่เกี่ยวไม่เป็นด้วย เพราะที่บ้านตนทำนา รู้สึกเหนื่อยมาก แต่ก็สนุกสนานที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนและรุ่นพี่ และรับรู้ได้ถึงความรัก ความสามัคคีระหว่างเพื่อนๆรุ่นพี่และอาจารย์ หากคราวหน้าจัดกิจกรรมอีกตนก็จะเข้าร่วม

ประมวลภาพ

ข่าวล่าสุด